กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร ได้ติดตามตรวจสอบสภาวะอากาศ กับกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึง หนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและ พื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 29-31 สิงหาคม 2566 โดย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร วันที่ 29 ส.ค. 66 ยังอยู่ในภาวะปกติ ยังไม่มีพื้นที่ไดัรับผลกระทบแต่อย่างใด โดยมีปริมาณฝนตก 24 ชม. 11.8 มม. ปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ จ.มห.(1มค.-ปัจจุบัน) 984.5มม.(ฝนเฉลี่ย1,480.6มม.)
ระดับน้ำลำแม่น้ำโขง มีแนวโน้มลดลง ระดับน้ำ 6.58 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.12 ม.ต่ำกว่าจุดวิกฤต(12.50ม.) -5.92 ม. ระดับเฝ้าระวัง 12.00ม. ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บกักน้ำ รวม 22 แห่ง วัดได้ 79.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76.07 %
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ป้องกัน รับมือ ลดผลกระทบ และสร้างการรับรู้ของประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าวจังหวัดมุกดาหาร จึงแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
1. กรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ให้ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิด อุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้นายอำเภอสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย ให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที
2. แจ้งประชาชนในพื้นที่ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อระวังอันตรายจากวาตภัย ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสารขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายด้วย และแจ้งเตือนประชาชน หรือ นักท่องเที่ยวที่ทำกิจกรรมทางน้ำ ให้ระวังอันตราย สำหรับชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารให้ดำเนินการตรวจตราอุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนการเดินเรือ และแนะนำการเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
3. ให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยสร้างทาง หน่วยงานชลประทาน หน่วยทหาร จิตอาสา อาสาสมัคร องค์กรการกุศล ฯลฯ เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรเครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
4.หากพบเห็นสาธารณภัยอันเกิดจากสภาวะอากาศดังกล่าว ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งด่วน เช่น ให้แจ้งผู้บริหารเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดภัย ตำรวจที่สายด่วน 191, บาดเจ็บฉุกเฉินสายด่วน 1669 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร หมายเลขโทรศัพท์ 0-4263-3101, 0-4261-2243 สายด่วนสาธารณภัย 1784 หรือที่ Line Official Account
"ปภ.รับแจ้งเหตุ 1774" ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ