ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

                ครม.มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเสนอให้พิจารณามาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถสันดาปภายในเปลี่ยนมาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
                นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 นั้น กรมศุลกากรได้ดำเนิน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้


1. เสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (Completely Buildup :CBU) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับการนำเข้ารถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) มีรายละเอียดดังนี้
   1.1 ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
        1)    การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากร จากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 40
        2)    ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
        3)    ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%
   1.2 ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 – 7 ล้านบาท
        1)    การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากร จากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60
        2)    ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
        3)    ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%

2. ดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิต หรือ ประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง อันมีสาระสำคัญ ดังนี้
   2.1 การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว
   2.2 การผลิตหรือประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)


กรมสรรพสามิตได้เสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้
1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น
2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภทไฮบริดเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ (PHEV) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน
3. การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ประเภทเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป (ICE), HEV และ PHEV  ให้เหมาะสม   โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 พ.ศ. 2571 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตราร้อยละ 8 เหลืออัตราร้อยละ 2 เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการ นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ
4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และ ยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ.2568
5.    การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภทยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมี อย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ


               นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 1 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ดังนี้


1. ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป
2. ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC
3. ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก.    2720 - 2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า
4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

                ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 27 ประเภท กระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีรถยนต์ ต้องจัดเก็บภาษีตามอัตราในร่างกฎกระทรวงนี้เมื่อกฎกระทรวง มีผลใช้บังคับ (วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)  รวม 6 ประเภท ดังนี้


1. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวง มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2578 
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50  
2. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวง มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไปให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 8 - 10 
3. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 14 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2  และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 - 12 ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
4. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้ พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
5. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle)  แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2568  ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 78  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 
กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2568 และ 1 ม.ค. 2569- 31 ธ.ค. 2578 
6.    รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง [Fuel Cell Powered Vehicle  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 2578  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5


รถยนต์ 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี  69 - 78 ตามลำดับ
               1. รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2571 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 13 - 38 
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป          ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 25 - 40 สำหรับรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตั้งแต่          1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50 
               2. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV)   ความจุกระบอกสูบ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 18 - 50 ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภท ไบโอดีเซล (B20) ร้อยละ 16 - 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578    
               3. รถยนต์นั่งที่ผลิตจากรถยนต์กระบะหรือแชสซีส์และกระจก บังลมหน้า (Chassis With Windshield) ของรถยนต์กระบะ หรือดัดแปลงจากรถยนต์กระบะที่ผลิตหรือดัดแปลงโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2.5 - 40   ที่ดัดแปลงโดยผู้ดัดแปลง จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป   
               4. รถยนต์สามล้อชนิดรถสกายแลป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป  
               5. รถยนต์อื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1 - 5 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
               6. รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน  แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่  1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 13 - 38 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573  เป็นต้นไป ให้จัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 - 40 สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร               ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
               7. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ใช้ เป็นรถพยาบาล และรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาดเป็นการทั่วไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป  

               8. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle) แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 6 - 28  
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป มีการจัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 30  กรณีที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษี          ในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 40 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
               9. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า          ที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 5 - 10  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป  
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วง  คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573   เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 20   สำหรับความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร           ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 30  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
               10. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 1 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
               11. รถยนต์นั่งสามล้อ และรถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์       ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร   รถยนต์สามล้อ  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 - 4  รถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของ รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค 2569 เป็นต้นไป 
               12. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (No Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 - 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค 2569 - 31 ธ.ค. 2578  
               13. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (No Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 - 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578 
               14. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3 - 7 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578 
               15. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 - 8 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578  
               16. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 8 - 13 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578 
               17. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิง ประเภท ไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 6 - 12 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578   
               18. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle)   ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 -2 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578 
               19. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle)  ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 0 - 1 ตั้งแต่  1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2578 

               20. รถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย           ในท้องตลาด จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่  1 ม.ค. 2569  
               21. รถยนต์ประเภทอื่น ๆ นอกจากข้อ 15 - ข้อ 26  ให้จัดเก็บภาษี      ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 - 50 ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2

การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้า รถจักรยานยนต์  รวม 4 ประเภท 
1.    แบบพลังงานไฟฟ้า โดยจะพิจารณาจากแรงดันไฟฟ้าให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 0 - 10 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
2.    แบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือแบบผสมที่ใช้พลังงาน เชื้อเพลิงและไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 - 25 
3.    รถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ  ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0  ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป 
4.    รถจักรยานยนต์อื่น ๆ นอกจากข้อ 1 - ข้อ 3 แบ่งเป็น  2         ช่วงระยะเวลาคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 - 31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 25 – 30


              นายกรัฐมนตรียังกำชับให้มาตรการภาษี ให้เกิดประโยชน์ในการลงทุน และ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป้าหมายคือ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระตุ้นผู้ประกอบการปรับปรุงและพัฒนาสู่เทคโนโลยีทันสมัย การลดปล่อยก๊าซ CO2  และยังเป็นการสนับสนุน พลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อน ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar